วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

งานวิจัยธนาคารโลก ยกไทยขึ้นอันดับ 17 ประเทศน่าลงทุน [น.ส.นภัสวรรณ No.10 M.5/6]

งานวิจัยธนาคารโลก ยกไทยขึ้นอันดับ 17 ประเทศ

Doing Business 2012

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ธนาคารโลกและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ร่วมจัดการประชุมรับฟังการนำเสนอผลการวิจัยการจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกหรือความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ประจำปี 2555 (Doing Business 2012) ผ่านระบบ Video Conference จากกรุงวอชิงตัน ดีซี ณ ที่ทำการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย

นายนีล เกรเกอร์รี่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ตัวชี้วัดระดับสากลของธนาคารโลก ประจำกรุงวอชิงตัน ดี ซี ได้ชี้แจงถึงรายงานการจัดอันดับความสะดวกหรือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจว่ามีตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน ได้แก่ ความยากง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาติก่อสร้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การปิดกิจการ และสุดท้ายคือความยากง่ายในการขอใช้ไฟฟ้า (Getting Electricity) ซึ่งเป็นดัชนีที่ถูกนำมาใช้ในปี 2012 นี้

ไทยขยับอันดับขึ้น จาก 19 เป็น 17

โดยผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ประจำปี 2555 (Doing Business 2012) ซึ่งเป็นรายงานล่วงหน้า 1 ปี มีการเก็บข้อมูลการปรับปรุงบริการที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 ถึงมิถุนายน 2554 มีประเทศที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก ปรากฎว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ อันดับที่ 17 ขยับสูงขึ้นจากปี 2554 ที่อยู่ในอันดับ 19 ยังคงสถานะการเป็นประเทศที่น่าลงทุน 20 อันดับแรก และอยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง

อันดับประเทศไทยที่เลื่อนขึ้นมา เป็นผลจากการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเริ่มต้นธุรกิจจากอันดับที่ 98 มาอยู่ที่ 78 ด้านการได้รับสินเชื่อ จากอันดับที่ 72 มาอยู่ที่ 67 และด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง จากอันดับที่ 25 มาอยู่ที่ 24

การปรับปรุงสำคัญที่มีผลต่ออันดับของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ที่ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจสู่หน่วยงานพันธมิตร (e-Starting Business) โดยปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และเลขที่บัญชีนายจ้างให้สามารถดำเนินการได้ ณ จุดเดียว (Single Point) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งผลให้ขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจจาก 7 ขั้นตอน เหลือ 5 ขั้นตอน ระยะเวลาการจองชื่อนิติบุคคลลดลงจาก 2 วันเหลือ 60 นาทีและระยะเวลาการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและเลขที่บัญชีนายจ้างลดลงจาก 4 วันเหลือ 60 นาที

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาไปสู่การใช้แบบฟอร์มร่วมกัน (Single Form) และการใช้เอกสารประกอบชุดเดียวกัน (Single Document) ส่งผลให้จำนวนแบบฟอร์มคำขอจาก 3 หน่วยงาน 3 แบบฟอร์ม ลดลงเหลือแบบฟอร์มเดียว และจำนวนเอกสารประกอบคำขอลดลงจาก 3 ชุด เหลือเพียง 1 ชุด ซึ่งมีผลให้การจดทะเบียนธุรกิจสะดวกและรวดเร็วขึ้น

และอีกด้านหนึ่งมาจากกระทรวงการคลังได้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ให้สินเชื่อมากขึ้น การปรับปรุงทั้ง 2 เรื่อง ทำให้อันดับในด้านการเริ่มต้นธุรกิจและด้านการได้รับสินเชื่อดีขึ้นอย่างมาก

การจัดอันดับประเทศต่างๆในรายงาน Doing Business 2012 - ที่มา World Bank

สิงคโปร์ครองแชมป์ 6 ปีซ้อน จีนหล่นฮวบ

ส่วนผลการวิจัยในระดับโลกนั้นพบว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ของการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 2 ด้านเกาหลีขยับขึ้นจากอันดับที่ 16 มาอยู่ที่ 8 และมาเลเซียขยับขึ้นจากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่ 18 ส่วนญี่ปุ่นอันดับลดลงจาก 18 มาอยู่ที่ 20 และจีนหล่นไปอยู่อันดับที่ 91 จาก 79

ภายหลังการแถลงผลการวิจัย นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในการจัดอันดับของรายงานความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งการจัดอันดับนี้ เป็นสิ่งยืนยันถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยและหากไทยยังต้องการที่จะรักษาตำแหน่งให้อยู่ในอันดับต้นๆเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไทยจะต้องมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะหากมีการหยุดพัฒนา จะสามารถเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่ใช้ความพยายามมากว่า แซงหน้าไปได้” โดยนางแอนเน็ตได้ยกตัวอย่างของประเทศจีน ที่ปัจจัยต่างๆในประเทศไม่ได้แย่ลง แต่มีอัตราการพัฒนาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นๆโดยเปรียบเทียบ อันดับของจีนจึงตกลงอย่างเห็นได้ชัด

เละเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะประกาศลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในอนาคตว่า จะมีผลต่อสภาพแวดล้อมการลงทุนภายในประเทศหรือไม่ นางแอนเน็ตได้ตอบว่า “การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอนาคต มีผลให้การลงทุนมีบรรยากาศที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”

ทางด้าน ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้แสดงความเห็นว่า “ธนาคารโลกได้รายงานว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านเริ่มต้นธุรกิจและด้านการได้รับสินเชื่อ ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการได้ลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการ การให้บริการจึงมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วขึ้น อันดับของไทยจึงดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว”

ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย จากซ้าย ดร.กิริฎา เภาพิจิตร, นางแอนเน็ต ดิกสัน, ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์

ทั้งนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำรายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ซึ่งเป็นรายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มเข้ามาศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2005 โดยเป็นการวิจัยแบบสำรวจความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ผู้เชี่ยวชาญต่างๆและเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับขั้นตอนระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนค่าใช้จ่าย กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆของรัฐ ว่ามีส่วนสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร ซึ่งประกอบไปด้วยตัวชี้วัดในการสำรวจ 10 ด้าน ตามวงจรธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มธุรกิจไปจนถึงการปิดกิจการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น